คาถาท้าวเวสสุวรรณอธิบดีแห่งอสูร-เทพแห่งขุมทรัพย์


คาถาท้าวเวสสุวรรณอธิบดีแห่งอสูร-เทพแห่งขุมทรัพย์ : ชั่วโมงเซียน โดย อ.โสภณ
            ท้าวกุเวร มีอีกพระนามหนึ่งที่รู้จักกันดีคือ ท้าวเวสสุวรรณ (ท้าวเวสสุวัณ) เป็นอธิบดีแห่งอสูร หรือยักษ์ หรือเป็นเจ้าแห่งผี เป็นหนึ่งในบรรดาท้าวจตุโลกบาลทั้งสี่ ผู้คุ้มครองและดูแลโลกมนุษย์ สถิตอยู่บนสวรรค์ชั้นจาตุทรงอิทธิฤทธิ์อานุภาพมากประทับ ณ โลกบาลทิศเหนือ มียักษ์เป็นบริวาร

 
                    ในสมัยโบราณคนไทยนิยมนำผ้ายันต์รูปยักษ์ผูกไว้ที่หัวเตียงเด็กเพื่อป้องกันวิญญาณชั่วร้ายไม่ให้มารังควานแก่เด็ก ท้าวกุเวรองค์นี้มีกล่าวถึงในอาฏานาฏิยปริตว่า นำเทวดาในสวรรค์ชั้นจตุมหาราชิกา มาเฝ้าพระพุทธเจ้า และได้ถวายสัตย์ที่จะดูแลพระพุทธเจ้าและเหล่าสาวก ไม่ให้ยักษ์หรือบริวารอื่นๆ ของท้าวจตุโลกบาลไปรังควาน
 
                   ท้าวเวสสุวรรณ เป็นเทพแห่งขุมทรัพย์ เป็นมหาเทพแห่งความร่ำรวย มั่งคั่ง รักษาสมบัติของเทวโลก ทั้งเป็นเจ้านายปกครองดูแลพวกยักษ์ ภูตผีปีศาจทั้งปวง โดยในคัมภีร์เทวภูมิ กล่าวไว้ว่า ท้าวเวสสุวรรณได้บำเพ็ญบารมี มาหลายพันปี รับพรจาก พระอิศวร พระพรหม ให้เป็นเทพแห่งความร่ำรวย
     
                    ความหมายของชื่อ “ท้าวเวสสุวรรณ ” นั้น เวส  แปลว่า พ่อค้า  หมายถึง พ่อค้าอันมีทรัพย์ อันได้แก่ ทองคำ เนื่องจากท้าวเวสสุวรรณ เคยมีอดีตชาติเป็นพราหมณ์ เปิดโรงงานค้าขายหีบอ้อยจนร่ำรวย และได้นำเงินทองบริจาคให้ผู้ยากไร้ เมื่อเกิดใหม่จึงได้ครองเมืองวิสานะนคร ผู้คนจึงเรียกว่าเวสาวัณ ด้วยกุศลดังกล่าวจึงได้รับพรจากพระพรหมให้เป็นอมตะไม่ตาย และให้เป็นเจ้าของทรัพย์สมบัติต่างๆ ทั่วแผ่นดิน
 
                    คนไทยรู้จักท้าวเวสสุวรรณ ในนามของ “ปู่โสมเฝ้าทรัพย์” หรือในชื่อ “ธนบดี” แปลว่า ผู้เป็นใหญ่ในทรัพย์ หรือ “ธเนศวร” แปลว่า เจ้าแห่งทรัพย์ อีกทั้งมีหน้าที่คอยจดความดีของคนทางทิศอุดรขึ้นไปจารึกและประกาศให้ปวงเทพยดาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์รับรู้ ผู้คนจึงนิยมจัดสร้าง หรือจำหลักรูปท้าวเวสสุวรรณ และเคารพบูชาเพื่อความมั่งคั่งอีกด้วย
 
                    การสร้างรูปท้าวเวสสุวรรณ ในอดีตและปัจจุบันมีหลายสำนัก ที่ขึ้นชื่อต้องยกให้ ท้าวเวสสุวรรณ ของท่านเจ้าประคุณศรี (สนธิ์) วัดสุทัศน์ กทม. และท้าวเวสสุวรรณ แกะจากไม้มงคล งา และเขี้ยว ของอาจารย์เฮง ไพรยวัลย์ จ.พระนครศรีอยุธยา เป็นต้น
     
                    ยันต์ท้าวเวสสุวรรณที่นำมาอธิบายในฉบับนี้ เป็นยันต์ที่ปรากฏบนเหรียญท้าวเวสสุสรรณ รุ่น ๑ (รวยรุ่งเรือง) ทั้งนี้ พระครูสุนทรธรรมนิวิฐ หรือ หลวงพ่อรวย ปาสาทิโก แห่งวัดตะโก ต.ดอนหญ้านาง อ.ภาชี จ.พระนครศรีอยุธยา ประธานอุปถัมภ์ ได้เมตตาอธิษฐานจิตปลุกเสกเดี่ยว เมื่อวันศุกร์ที่ ๒๖ สิงหาคม ๒๕๕๔ เพื่อมอบที่ระลึกสำหรับผู้ร่วมบุญทอดกฐิน วันเสาร์ที่ ๕ พฤศจิกายน ๒๕๕๔ เพื่อนำรายได้สมทบทุนสร้างศาลาการเปรียญสำนักสงฆ์ภูคำ อ.บ้านคอนข้าวหลามเหนือ จ.นครพนม
 
                    ด้านหน้าของเหรียญ เป็นคาถาหัวใจท้าวเวสสุวรรณ และคาถาหัวใจเมตตัน ปกติแล้วจะเขียนเป็นตัวขอม แต่เหรียญรุ่นนี้ใช้ภาษาไทย เข้าใจว่าผู้สร้างต้องให้คนนำไปภาวนาเพื่อบูชาท้าวเวสสุวรรณ และเพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ตนเอง
 
                    คำว่า “โอม” เป็นภาษาพราหมณ์-ฮินดู แปลว่า “เสียงก้องจักรวาล หรือ เสียงก้องไปทั้ง ๓ ภพ” ทั้งนี้ จะใช้นำคาถาบทอื่นๆ ไม่ว่าจะไหว้เทพองค์ใดจะใช้คำว่า “โอม” นำเสมอ ในทางพุทธศาสนาจะใช้คำว่า “นะโม” ซึ่งเป็นบทคารวะพระพุทธเจ้า ในบางครั้งจะพบว่า พราหมณ์ผู้ประกอบพิธีบวงสรวงเทพยาจะใช้ คำว่า “โอมนะโม” รวมกัน แล้วตามด้วยคาถาที่จะบูชาเทพองค์นั้นๆ เช่น “โอมนะโม
 
                    “เวส สะ พุ สะ” เป็นคาถา หัวใจท้าวเวสสุวรรณ ถ้าเป็นคาถาท้าวเวสสุวรรณจะใช้ว่า “เวส สุ วัณ ณัส สะ คะ ทา วุธ ทัง” คาถาบทนี้หมายถึง “ท้าวเวสสุวรรณมีคทา หรือ ตะบอง เป็นอาวุธ”
 
                    “เมต ตรัย จะ สัพ พะ โล กัส มิง” เป็นคาถา หัวใจเมตตัน ใช้ทางคุ้มกันภัยแคล้วคลาดจากสัพพะอันตรายทั้งปวง บทนี้ใช้ภาวนาเมื่อขับรถโดยให้เริมต้นจาก ตั้งนะโม ๓ จบ แล้วตามด้วยบทบูชาพระรัตนตรัยที่ว่า “พุท ธัง สะระณัง คัฉฉามิ ธัมมัง สะระณัง คัฉฉามิ สังฆัง สะระณัง คัฉฉามิ” จากนั้นให้ตามด้วยการบริกรรมคาถาหัวใจเมตตา ทั้งนี้ บางสำนักในส่วนของคำว่า “เมต ตรัย จะ สัพ พะ โล กัส มิง” ใช้ว่า “เมต ตัน จะ สัพ พะ โล กัส มิง” โดยเปลี่ยนจาก “ตรัย” เป็น “ตัน”
 
                    ส่วนด้านหลังของเหรียญมีคาถา ดังนี้ ๑.ยันต์พระเจ้า ๕ พระองค์ หรือ แม่ธาตุใหญ่ ล้อมตัวนะมหานิยม หรือ นะทรหด (ซึ่งเป็น ๑ ใน นะ ๑๐๘) ที่ว่า “นะ โม พุทธ า ยะ” ซึ่งพบมากที่สุดในเหรียญพระเกจิอาจารย์ยุคโบราณ คาถาบทนี้พุทธคุณดีทุกด้าน หรือ ครอบจักรวาล
 
                    คาถาที่อยู่เหนือคำว่า “รวยรุ่งเรือง” คือ “นะ โม เจ จิ นะ มะ พะ ทะ” ซึ่งเป็นคาถา ๒ บท รวม กัน คือ ๑. คาถาหัวใจสังคะหะ ที่ว่า “จิ เจ รุ นิ” เป็นการสรุปคาถายอดพระกัณไตรปิฎก แต่ย่อเหลือเพียง“นะ โม เจ จิ” คาถาบทนี้คนโบราณใช้เขียนใส่ปากผู้ที่ใกล้จะสิ้นลมหรือหมดลมหายใจ โดยมีคติความเชื่อว่า “จะทำให้วิญญาณอื่นไม่มารบกวนรังแก รวมทั้งให้วิญญาณของผู้ตายไปสู่ภพภูมิที่จะไปเกิดใหม่ ตามผลบุญที่ได้กระทำไว้” รวมทั้งใช้บริกรรมเสกน้ำล้างหน้าในตอนเช้า เป็นเมตตามหานิยม และคงกระพันชาตรี
 
                    และ ๒.คาถาธาตุ ๔ ที่ว่า “นะ มะ พะ ทะ” หมายถึง น้ำ ดิน ไฟ ลม คาถาบทนี้ใช้เป็นตัวประกอบในกรณีที่สร้างรูปภาพต่างๆ ให้เหมือนประหนึ่งมีชีวิต ปกติแล้วการวาดรูปต้องบริกรรมอาการ ๓๒ ที่ว่า “เกศา โลมา นะขา ทันตา ตะโจ มังสัง นะหาโร....” หรือ “อิ มัส สะ มิง กา เย” (ในกายเรามีอย่างนี้แล) แล้วปิดด้วย “นะ มะ พะ ทะ”
 
                    อย่างไรก็ตาม มีคาถาอยู่บทหนึ่งสำหรับผู้กลัวผี ซึ่งเป็น คาถา ของพ่อหลวงจีด ปุญญสโร อดีตเจ้าวาสวัดถ้ำเขาพลู ต.ชุมโค อ.ปะทิว จ.ชุมพร (เกิด พ.ศ.๒๔๑๙ มรณภาพ ๑๗ มิถุนายน ๒๕๐๒ อายุ ๘๓ ปี พรรษาที่ ๖๓ ) ท่านได้บอกคาถาบทนี้ให้กับชาวบ้านท่าแพ เพื่อป้องกันภูตผีปีศาจ ให้ภาวนาก่อนนอนทุกคืน ยังทำให้ไม่นอนฝันร้าย ตลอดจนป้องกันไข้ห่า (อหิวาตกโรค) ได้เป็นอย่างดี
 
                     สำหรับที่มาของคากันผีบทนี้ ท่านกล่าวว่า มีอยู่ใน ๗ ตำนาน ที่ว่า “พุทธัง สะระณัง คะโต มะนะสา ยักขาเสฏโฐ เวสสุวัณโณ สุคะโต จะโรจะติ ธัมมัง สะระณัง คะโต มะนะสา ยักขาเสฏโฐ เวสสุวัณโณ สุคะโต จะโรจะติ สังฆัง สะระณัง คะโต มะนะสา ยักขาเสฏโฐ เวสสุวัณโณ สุคะโต จะโรจะติ”

ขอขอบคุณ นสพ.คมชัดลึก