สารพัดปัญหาเท้า ของสาวๆ ที่นิยมใส่ส้นสูงปรี๊ด
รองเท้าส้นสูง นับเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับสาวๆ โดยเฉพาะสาวๆ ที่ขึ้นชื่อว่า เป็นแฟชั่นนิสต้า เพราะรองเท้าจะช่วยส่งให้พวกเธอดูดี มีบุคลิกที่สง่า น่ามอง และก่อให้เกิดความมั่นใจ บางคนชินกับการใส่รองเท้าส้นสูง จนใส่รองเท้าแบบส้นแบนๆ แล้วเดินไม่เป็นเลยก็มี และนี่คือจุดเริ่มต้นของสารพัดปัญหาเท้าที่คุณสาวๆ ต้องเผชิญ
ปัญหาสุขภาพเท้าจากการใส่รองเท้าส้นสูง
ผลต่อกล้ามเนื้อน่องเอ็นร้อยหวาย การอยู่ในท่าเขย่งนานๆ ทำให้กล้ามเนื้อน่องเอ็นร้อยหวายตึงและหดสั้น สังเกตจากอาการปวดน่องบ่อยๆ จากการเดิน หรือการเป็นตะคริว
ผลต่อโครงสร้างเท้า เมื่อเอ็นร้อยหวายหดสั้น จะส่งผลให้เท้าแบนเมื่อยืนด้วยเท้าเปล่า ซึ่งทำให้เกิดปัญหาฝ่าเท้าช้ำได้ อาการดังกล่าวอาจปวดบริเวณอุ้งเท้า จนถึงส้นเท้าได้
พังฝืดใต้ฝ่าเท้าหดสั้น จากรายงานในต่างประเทศพบว่า จะส่งผลให้เท้าโก่งจากการดึงรั้งของพังผืดดังกล่าวได้ เพราะเท้าอยู่ในลักษณะเขย่งนานๆ
ผลต่อสรีระกระดูกสันหลัง ขณะที่ใส่รองเท้าส้นสูง ทำให้น้ำหนักของเท้าเทไปส่วนหน้า เพื่อให้ร่างกายสามารถตั้งตรงและทรงตัวได้ ร่างกายจึงปรับให้หลังช่วงบั้นเอวแอ่นไปด้านหลัง จนนำมาสู่สาเหตุของท่านสุภาพสตรีที่มีอาการตึง และปวดหลังได้
การใช้อุปกรณ์ช่วยถนอมเท้า
อุปกรณ์เสริมฝ่าเท้า มีไว้เพื่อจัดโครงสร้างกระดูกทั้งหมด 26 ชิ้น ให้อยู่ในตำแหน่งธรรมชาติ ทั้งนี้เพื่อเอื้อต่อการทำงานของส่วนต่างๆ ของร่างกายให้สามารถเคลื่อนที่ได้อย่างปกติ ปลอดภัย เป็นการป้องกันการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อเอ็นต่างๆ กระดูกและข้อ ที่อาจนำไปสู่การเกิดปัญหาของเท้าได้
เลือกรองเท้าอย่างไรให้ปลอดภัยต่อสุขภาพเท้า
1. รองเท้าที่ดี ส้นไม่ควรสูงเกิน 1 นิ้ว ลักษณะส้นไม่ควรเป็นส้นเข็ม หรือเล็ก เพราะเมื่อฐานเล็ก ทำให้ไม่มั่นคง อาจเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย
2. รองเท้าควรยาวกว่าเท้าประมาณ 1 ซม.และส่วนหน้าไม่บีบนิ้วเท้าเกินไป เพราะขณะที่คนเราเดินเท้าจะมีการเคลื่อนไปด้านหน้าประมาณ 7 มม.ดังนั้นในรายที่ใส่รองเท้าที่พอดีเท้า ก็จะเกิดปัญหากับเล็บและนิ้วเท้าได้ เพราะทุกครั้งที่เดิน จะเกิดการกระแทก จนเป็นสาเหตุให้เล็บเสีย นิ้วเท้างุ้มงอ และเบียดกัน
3. พื้นด้านในรองเท้าควรจะนุ่มเพื่อเป็นการลดแรงกระแทก และควรเสริมอุปกรณ์พยุงฝ่าเท้าด้วย เพื่อลดการบาดเจ็บและสุขภาพที่ดีของเท้า
4. รองเท้าต้องกระชับ ไม่คับหรือหลวมเกินไป ถ้าให้ดีควรสามารถปรับได้
เมื่อมีอาการเจ็บหรือปวดควรรีบสำรวจหาสาเหตุ เพราะบางครั้งรองเท้าอาจจะหมดสภาพ หรือไม่เหมาะสมกับโครงสร้างเท้า แต่ถ้าปวดเมื่อยจากการเดินมากๆ อาจผ่อนคลายโดยการแช่น้ำอุ่น หรือน้ำเย็น ร่วมด้วยกับการบริหารกล้ามเนื้อขา และเท้าง่ายๆ โดยกระดกปลายเท้าขึ้นให้สุด จนรู้สึกตึงๆ ที่น่อง ค้างไว้ 10 วินาที ทำสัก 10 ครั้ง
ที่กล่าวมาทั้งหมดเป็นการดูแลเท้าเบื้องต้น ถ้ามีปัญหาหรือดูแลเบื้องต้นแล้วไม่ดีขึ้น ควรปรึกษาแพทย์ หรือผู้เชี่ยวชาญด้านเท้า อย่าทิ้งไว้จนกลายเป็นเรื้อรัง เพราะปัญหาเล็กน้อยเหล่านี้จะทำให้บั่นทอนคุณภาพชีวิตในด้านอื่นๆ เนื่องจากเท้าเป็นองค์ประกอบสำคัญที่ร่างกายเราจำเป็นต้องใช้งานหนักในแต่ละวัน
โดย คลินิกสุขภาพเท้า โรงพยาบาลเวชธานี
ขอขอบคุณไทยรัฐออนไลน์